แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคหลายมาตรการ เช่น คัดกรองและเฝ้าระวังโรค กักตัวผู้มีความเสี่ยงรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า งดจัดกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก ทำความสะอาดสถานที่และพื้นผิวสัมผัสร่วม เป็นต้น แต่สิ่งที่เป็นความหวังของรัฐบาลและประชาชนในขณะนี้ คือวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า วัคซีนโควิด 19 นั้น ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการใช้วัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพได้มากที่สุดเท่าที่ศักยภาพของประเทศจะดำเนินการได้

ขณะนี้วัคซีนโควิด 19 หลายชนิดได้รับการพัฒนาและผลิตสำเร็จ วัคซีนบางชนิดได้รับอนุญาตทะเบียนแบบฉุกเฉิน (Emergency Use Authority: EUA) จากประเทศของบริษัทผู้ผลิตเองและจากประเทศที่นำวัคซีนไปใช้และวัคซีนบางชนิดอาจจะยังไม่ได้รับอนุญาตทะเบียน แต่รัฐบาลบางประเทศก็นำไปใช้ก่อน สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประชาชน ดังนั้นวัคซีนโควิด 19 ทุกชนิดที่นำมาใช้ในประเทศจะต้องผ่านการพิจารณาและยอมรับจากคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการด้านวิชาการคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนฯ และคณะทำงานหลายคณะ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาและภาคส่วน ที่สำคัญจะต้องผ่านการพิจารณาอนุญาตขึ้นทะเบียนแบบพิเศษ เรียกว่า “Conditional approval for emergency use authorization” จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนทุกคนที่สมัครใจรับวัคซีน

วัคซีนโควิด 19 ที่จัดหาเป็นของประชาชนในประเทศ การที่จะให้ประชาชนได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันการเกิดโรคหรือการเกิดโรคที่รุนแรง ส่วนสำคัญเกิดจากการปฏิบัติงานของเหล่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสังกัด ซึ่งต้องระดมแรงกายแรงใจกับภาระงานที่หนักและเวลาที่มีจำกัด สิ่งหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้การดำเนินงานสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ “แนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย” ซึ่งกรควบคุมโรคได้จัดทำขึ้น โดยได้รับความกรุณาจากศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ในการทบทวนองค์ความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 รวมถึงคณาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ สมาคม/ราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่าง ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรคและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการเขียนและขัดเกลาเนื้อหาในแนวทาง ซึ่งเป็นฉบับแรกสำหรับการปฏิบัติงานในช่วงต้น

การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

  1. ตรวจสอบเป็นผู้ที่ยังไม่ควรฉีดวัคซีน
    • หากตั้งครรภ์ ควรเลื่อนนัดฉีดเป็นช่วงหลังคลอดแล้ว
    • กำลังรักษาอาการป่วยรุนแรง ควรเลื่อนนัดฉีดไปก่อนจนกว่าหายดี
    • มีอาการป่วยก่อนฉีดวัคซีน เช่น ไข้สูง ท้องเสียรุนแรง ควรเลื่อนนัดฉีดไปก่อน
  2. ตรวจสอบเป็นผู้ที่เคยมีประวัติแพ้วัคซีน หรือแพ้ยา ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนฉีดวัคซีนโควิด
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรงดอาหารก่อนการฉีดวัคซีน
  4. ตรวจสอบเป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่ได้รับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ (เดือน มี.ค. 2564)
    • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า
    • ประชาชนทั่วไปในพื้นที่เสี่ยง ผู้ที่มีโรคประจำตัว 6 กลุ่ม และภาวะอ้วน

แนวทางปฏิบัติตัวก่อน-หลังฉีดวัคซีน

  1. หากมีโรคประจำตัวเรื้อรัง แพ้ยา/วัคซีน ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนฉีดวัคซีน
  2. ไม่ควรกินยาแก้ไข้ หรือยาแก้ปวด ก่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากยาอาจไปกดภาวะการอักเสบทำให้การตอบสนองของวัคซีนลดลง
  3. รับประทานยาอะไรบ้าง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ
  4. สังเกตอาการข้างเคียงที่โรงพยาบาลก่อนกลับบ้านอย่างน้อย 30 นาที
  5. เมื่อกลับบ้านแล้ว อาจพบว่ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น มีผื่น ปวด บวมบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งหลังจากได้รับวัคซีน 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง อาการจะค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าไข้สูงมาก รีบกลับมาพบแพทย์ หรือโทรแจ้ง 1669
  6. หลังจากการรับวัคซีนแล้ว 3 วัน โอกาสแพ้และผลข้างเคียงจากวัคซีนพบน้อยมาก ควรสังเกตอาการต่อไปจนครบ 30 วัน.

สาเหตุอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน

  1. ความกลัวการฉีดยา/วัคซีน อาจะถึงขั้นเวียนหัว เป็นลม
  2. โรค/อาการป่วยอื่นร่วมด้วย เช่น อาจมีอาการอาหารเป็นพิษอยู่, เป็นไข้หวัดแต่อาการไม่มาก เมื่อรับวัคซีนไปพอดีกับไข้ขึ้นร่วมด้วย
  3. ปฏิกิริยาของวัคซีน บางคนอาจแพ้สารต่างๆ ในวัคซีนจนทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ แต่ก็พบได้น้อยมาก และมีประวัติแพ้วัคซีนนี้มาก่อน
  4. ข้อจำกัดจากการบริหารวัคซีน อาทิ วัคซีนเย็นเกินไปขณะฉีด อาจจะทำให้ปวดมากขึ้น

กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว ซึ่งถือเป็นกลุ่มนำร่องที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อน ประกอบด้วย กลุ่มผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ดังนี้

  1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
  2. โรคหัวใจและหลอดเลือด
  3. โรคไตวายเรื้อรัง
  4. โรคหลอดเลือดสมอง
  5. โรคอ้วน
  6. โรคมะเร็ง
  7. โรคเบาหวาน

เอกสารดาวน์โหลด

Download “แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์ระบาดปี 64 ของประเทศไทย” 1729520210301021023.pdf – Downloaded 1705 times – 3.39 MB Download “แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับผู้ป่วยโรคระบบประสาท” 25640316092717AM_Final%2015%20March%20COVID%20vaccine%20and%20neurological%20disease%20with%20reference.pdf – Downloaded 1150 times – 360.18 KB

ข้อมูลเพิ่มเติม

บรรยากาศการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ (วันที่ 18 เมษายน 2564)