8 วิธีดูแลสุขภาพ เมื่อลมหนาวพัดผ่าน

ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายหากร่างกายปรับตัวไม่ทัน จึงขอเตือนประชาชนให้ป้องกันตนเองจาก 6 โรคที่พบบ่อยในฤดูหนาวทุกปี ได้แก่ ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด โรคสุกใส มือเท้าปาก อุจจาระร่วงในเด็กเล็ก พร้อมย้ำเตือนนักดื่ม ไม่ควรดื่มสุราเพื่อแก้หนาว อาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ประชาชนควรป้องกันตนเองจาก 6 โรคที่พบบ่อยในฤดูหนาวทุกปี ได้แก่

  1. โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันโดยน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จามรดกัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีน้ำมูก คัดจมูก ปวดศีรษะ ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ
  2. โรคปอดบวม มักเกิดตามหลังโรคหวัด 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมาก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หากเป็นรุนแรงอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว
  3. หัด พบในเด็กอายุ 1-6 ปี ติดต่อกันโดยการไอ จาม รดกัน ผื่นจะขึ้นประมาณวันที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายไปทั่วตัว และหายไปใน 14 วัน
  4. โรคสุกใส ติดต่อกันโดยการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วย หรือสัมผัสน้ำเหลืองจากตุ่มพองใสที่ผิวหนังของผู้ป่วย มักเกิดในเด็ก ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ ใบหน้า ตามตัวเป็นผื่นแดง นูน จากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง แห้งตกสะเก็ด และร่วงภายใน 5-20 วัน
  5. โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปาก จากมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม แล้วจะเกิดตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก ๆ (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ก้น ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส และแตกออกเป็นแผล
  6. โรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ติดต่อกันโดยการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวบ่อยครั้ง โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่เด็กบางคน อาจขาดน้ำรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และปฏิบัติ ดังนี้
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่นไม่กระทบอากาศร้อนหรือเย็นจนเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะขามป้อม ฝรั่ง มะขาม มะละกอสุก ส้มโอ พุทรา เป็นต้น ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
  • รักษาความสะอาดของร่างกาย เช่น ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก ก่อน-หลัง เข้าห้องน้ำห้องส้วม
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วันๆ ละ 30 นาที
  • ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว จาน เป็นต้น
  • ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือถ้าจำเป็นต้องใส่ผ้าปิดปาก-ปิดจมูก เสมอ ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสผู้ป่วย
  • หมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของตนเองและบุคคลในครอบครัว หากไม่สบาย มีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ อาจมีน้ำมูก น้ำตาไหล โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว มักมีอาการรุนแรง สังเกตได้จากหอบ หายใจลำบาก หรื ถ้ามีไข้สูงเกิน 2 วัน ต้องรีบไปรับการรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขทันที

ที่มา
กรมอนามัย