นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)
วันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สมาคมโรงพยาบาลเอกชน วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแถลงข่าว“นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต”
- UCEP คืออะไร UCEP คือ นโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน(กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) และในอนาคตจะขยายไปยังกองทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอันจะทําให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับ การคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการ อย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคและความเสี่ยงของการดูแลรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต
- ใครบ้างที่ใช้สิทธินี้ได้ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้อง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้และเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์ โดยเริ่มที่สามกองทุนก่อน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ,กองทุนประกันสังคม,กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
- เจ็บป่วยฉุกเฉินแค่ไหนถึงจะใช้สิทธิUCEP ได้ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ กพฉ.ประกาศกำหนด และ รายละเอียดเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ สพฉ. กำหนดกรณีกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต คือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
- ขั้นตอนในการใช่สิทธิ์ UCEP เป็นอย่างไร ประชาชนทุกคนควรตรวจสอบสิทธิพื้นฐานการรักษาพยาบาลของตนเองในเบื้องต้นว่าเป็นสิทธิอะไร เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือหากไม่ทราบ ให้ทำการขอตรวจสอบสิทธิ ณ รพ.ทุกแห่ง หรือ สำนักงานเขตภายในกรุงเทพมหานคร กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิให้แจ้ง รพ.ให้รับทราบว่าขอใช้สิทธิUCEP โรงพยาบาลดำเนินการประเมินผู้ป่วยตามแนวทางทีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด(Preauthorization)ในกรณีมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษา ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง. หมายเลข 02-8721669 เมื่อโรงพยาบาลดำเนินการประเมินผู้ป่วยแล้ว จะแจ้งผลการประเมินให้กับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยรับทราบผลการประเมิน หากผลการประเมินเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการตามระบบ UCEP โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต กรณีผลการประเมินไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หากต้องการรักษาที่โรงพยาบาลเดิม ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเอง
- ในกรณีที่มีข้อถกเถียงเรื่องอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินว่าเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่นั้นจะดำเนินการอย่างไร ในกรณีนี้ โรงพยาบาลเป็นผู้คัดแยกผู้ป่วยตามแนวทางทีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด(Preauthorization)ในกรณีมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษา ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- รูปแบบการทำงานของ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ทำงานอย่างไร ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องผ่านได้ทางไหน ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(ศคส.สพฉ.) มีการดำเนินงานดังนี้ ดำเนินการตรวจสอบประเมินความถูกต้องเหมาะสมในการPreauthorization และการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลเอกชนเมื่อมีผู้ป่วยเข้าระบบ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วย ติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนพ้นภาวะวิกฤตจนสามารถย้ายไปโรงพยาบาลคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ ระบบคัดแยกความเจ็บป่วยฉุกเฉิน (Preauthorization)โดยสามารถ ติดต่อได้ที่ 02 872 1669
- หากมีข้อโต้แย้งเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะใช้เวลานานหรือไม่ในการพิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา กรณีที่มีปัญหาการตัดสินการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต. แพทย์ประจำศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( ศคส.สพฉ.) ร่วมกับวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย จะประเมินภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยภายใน 15 นาที โดยคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติให้ถือเป็นที่สุด
- เมื่อรักษาครบ 72 ชั่วโมงแล้ว กระบวนการขั้นตอนส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อในโรงพยาบาลจะดำเนินการอย่างไร ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) รับทราบว่ามีผู้ป่วยวิกฤตเข้าระบบ เมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีการประเมินและบันทึกการประเมินผู้ป่วยในระบบโปรแกรม Preauthorization และ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งต่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วย เพื่อเตรียมการรับย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติให้ได้ทันภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เมื่อครบ 72 ชั่วโมงแล้วหรือพ้นภาวะวิกฤตแล้ว
- หากประสานไปยังโรงพยาบาลต้นทางที่ผู้ป่วยมีสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่แล้วรพ.แจ้งว่าไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย จะมีการดำเนินการเช่นไร และหากมีค่าใช้จ่ายใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งไปยังกองทุนต่างๆเพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของแต่ละกองทุน
ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
6 กลุ่มผู้ป่วยวิกฤต รักษาฟรีทุกที่ 72 ชม. | 02-04-60 | ชัดทันข่าว เสาร์-อาทิตย์ : ไทยรัฐทีวี