ทำไมในโรงพยาบาล “ห้ามถ่ายภาพ”

ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและรวดเร็วจนคาดไม่ถึง โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลด้านสุขภาพ ซึ่งถือเป็นความลับของผู้ป่วย แต่ขณะนี้มักพบเห็นการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น มีการถ่ายรูปผู้ป่วยระยะสุดท้ายพร้อมเขียนข้อความขอความช่วยเหลือ ส่งข้อความต้องการขอรับบริจาคเลือดโดยมีการระบุชื่อผู้ป่วย การแสดงผลฟิล์มเอกซเรย์ การถ่ายภาพภายในห้องของผู้ป่วย ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นต้น

ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ที่กระทำมีเจตนาที่ดี แต่ปัญหาคือการสื่อสารเช่นนี้แบบไหนถึงจะพอดี เพราะต้องเข้าใจว่าบางโรคผู้ป่วยก็ไม่อยากเปิดเผย เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตหรือหน้าที่การงาน ยิ่งไปกว่านั้นท่ามกลางความขัดแย้งในปัจจุบันอาจมีการนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้โจมตีฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างได้ อย่างสื่อมวลชนกระแสหลักก็ต้องมีความระมัดระวัง เช่น กรณีรักษาการนายกรัฐมนตรี หรืออดีตนายกรัฐมนตรีเกิดอุบัติเหตุแค่ไหนจึงพอเหมาะพอควร ในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะ

ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ทั้งข้อมูลส่วนตัว สุขภาพ และการรักษา จะมีคนเกี่ยวข้อง 2 ส่วน คือ ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีคุณธรรมจริยธรรมจรรยาบรรณมากำกับ รักษาความลับของผู้ป่วย ส่วนข้อมูลผู้ป่วยที่อยู่ในระบบบริการต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย เพราะหากไม่ใส่ใจข้อมูลอาจหลุดได้ และคนทั่วไปที่รู้ข้อมูลโดยการมาเยี่ยมหรือมีคนส่งต่อมาให้ ย่อมมีโอกาสเอาข้อมูลไปกระจายทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจกระทบต่อคนไข้ สังคม ก่อเกิดความเกลียดชัง ปัญหาขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม หากต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยสามารถทำได้ แต่ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย ไม่ระบุชื่อผู้ป่วย

เรื่องข้อมูลสุขภาพต้องคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล 3 เรื่อง คือ

  1. หลักสากลซึ่งไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ทั่วโลกพึงปฏิบัติ
  2. รัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลไว้ชัดเจน และ
  3. หลักกฎหมาย ซึ่งมีระบุไว้หลายฉบับในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

และปัจจุบันกำลังมีการมีการยกร่างกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลด้วย แม้แต่วิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขก็มีการออกประกาศสิทธิผู้ป่วยไว้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ควรคำนึงถึงหลักคุณธรรมจริยธรรม หรือจรรยาบรรณของวิชาชีพมากกว่า เพราะหากนึกว่าเราเป็นผู้ป่วยเองเราจะยินยอมหรือไม่ เป็นลักษณะของใจเขาใจเรา

สำหรับหลักจริยธรรมด้านสุขภาพของบุคลากรทางการแพทย์จะมี 4 เรื่องคือ

  1. อิสระของผู้ป่วย คือผู้ป่วยมีสิทธิของเขา ผู้ปฏิบัติวิชาชีพต้องระวัง มิใช่ว่ามีข้อมูลของผู้ป่วยแล้วจะเอาไปทำอะไรก็ได้ ผู้ป่วยมีสิทธิพิทักษ์รักษา
  2. ประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย
  3. ไม่ทำอันตรายต่อผู้ป่วยจากการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ และ
  4. หลักการยุติธรรม ดูความเท่าเทียมเสมอภาค
[note note_color=”#ee0518″ text_color=”#0d0a0a”]หากผู้ป่วยถูกละเมิด ผู้ป่วยและญาติสามารถฟ้องได้ตามมาตรา 7 โดยผู้ละเมิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[/note]

ส่วนกฎหมายใหม่ที่กำลังยกร่างก็ต้องทำการฟ้องเช่นกัน ทั้งนี้ ในยกร่างกฎหมายใหม่คงไม่มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบการละเมิดสิทธิของผู้ป่วย เพราะสังคมมีความสลับซับซ้อน มีการกระทำเช่นนี้เป็นจำนวนมาก จึงมีการเสนอว่าต้องให้ความรู้แก่ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบในเรื่องนี้

สำหรับหน้าที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะกรณีการตามบุคคลสำคัญ บุคคลสาธาณะเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยก็ต้องคำนึงว่ารูปควรนำไปใช้แค่ไหน เพราะเป็นการมาสื่อสารหน้าที่ของผู้นำ ไม่ใช่สื่อสารความลับของผู้ป่วย ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ควรเข้าไปในห้องผู้ป่วย เรื่องนี้ควรมีการทำความเข้าใจและสร้างระบบให้ชัดเจน ซึ่งจริงๆ แล้วโรงพยาบาลก็มีกฎห้ามถ่ายรูปอยู่แล้ว แต่กรณีมากับบุคคลสำคัญอาจจะห้ามไม่ทัน

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าในเขตโรงพยาบาลทำไมต้องห้ามถ่ายภาพ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิผู้ป่วยจึงไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปผู้ป่วยหรืออาคารสถานที่ในโรงพยาบาล ยกเว้นได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลนั้นๆก่อน และผู้ป่วยหรือผู้มีอำนาจแทนผู้ป่วยจะยินยอมเท่านั้น

ที่มา: